สายโคแอกเซียล (Coaxial Cable)

 

           ป็นสายอีกชนิดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้ในการสื่อสารข้อมูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสายที่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นสองประการ คือ มีฉนวนภายนอกที่มีความคงทนต่อการ ใช้งานสูง และเป็นช่องสื่อสารที่มีความกว้างมาก โครงสร้างของสายชนิดนี้ประกอบด้วย สายลวดทองแดงสองเส้นสำหรับการถ่ายทอดสัญญาณ โดยมีสายลวดทองแดงขนาดใหญ่ หนึ่งเส้นเป็นแกนกลาง เรียกว่า สายนำสัญญาณภายใน (Inner Conductor) ห่อหุ้มด้วยฉนวน เรียกว่า Shell ชั้นต่อมาเป็นสายลวดทองแดงขนาดเล็กจำนวนมากถูกนำมาถักเข้าด้วยกันเพื่อห่อหุ้ม Shell ไว้ภายใน ทำหน้าที่เป็นสายนำสัญญาณสายที่สอง (Second Conductor) หรือเรียกว่า Braided Copper Shield ชั้นนอกสุดเป็นฉนวนหุ้มสายที่ค่อนข้างหนา ซึ่งมักจะเป็นวัสดุประเภทยางที่มีคุณสมบัติคงทนต่อการใช้งานเป็นอย่างมาก ในการเชื่อมต่อจะมีอุปกรณ์หัวต่อที่เรียกว่า BNC (Bayo Net Connector) เชื่อมที่หัวท้ายของปลายสายโคแอกเซียล ซึ่งจะถูกต่อเข้ากับตัวเชื่อมสายและหัวต่อแบบ T-shaped Connector

                การถ่ายทอดสัญญาณในสายโคแอกเซียล ทำได้สองแบบ คือ แบบบรอดแบนด์ และแบบเบสแบนด์ การถ่ายทอดสัญญาณแบบบรอดแบนด์ (Broadband Transmission) จะแบ่งสายออกเป็นช่องสัญญาณขนาดเล็กจำนวนมาก ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ คือจะแบ่งเป็นสัญญาณพาหะ (Carrier Wave) ออกเป็นช่องสัญญาณเล็กตามขนาดคลื่นความถี่ โดยมีช่องสัญญาณกันชน เรียกว่า Guard Band ทำหน้าที่เป็นตัวป้องกันการรบกวนระหว่างช่องสัญญาณที่อยู่ติดกัน ดังนั้นสายสัญญาณย่อยทุกเส้นจึงสามารถรับ-ส่งข้อมูลได้พร้อม ๆ กัน ดังภาพแสดงภาพเสมือนของการแบ่งช่องสัญญาณที่เกิดขึ้นในสายโคแอกเซียลแบบบรอดแบนด์ สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ในการส่งสัญญาณโทรทัศน์นับร้อยช่องผ่านทางสายโคแอก เซียลเพียงเส้นเดียวไปตามบ้านพักอาศัย ส่วนบริษัทยูบีซีในประเทศไทยก็ทำในลักษณะเดียวกันเพียงแต่ใช้สายคนละชนิดกัน คือสายใยแก้วนำแสง


ภาพ  แสดงสายโคแอกเซียลแบบบรอดแบนด์ ที่มา : ภวนา เผ่าน้อย , 2547, หน้า 155

การถ่ายทอดสัญญาณแบบเบสแบนด์ (Baseband Transmission) ถูกนำมาใช้ในการสื่อสาร ข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะในระบบเครือข่ายเฉพาะบริเวณในกรณีนี้สายโคแอกเซียลจะมีเพียงช่องสัญญาณเดียว (ที่มีความกว้างมาก) ดังนั้นอุปกรณ์ประกอบ จึงมีความซับซ้อนน้อยกว่าแบบแรก ดังแสดงในภาพ

ภาพ แสดงสายโคแอกเซียลแบบเบสแบนด์ ที่มา : ภวนา เผ่าน้อย , 2547, หน้า 156

                ความกว้างของช่องสัญญาณในสายโคแอกเซียล ทำให้สายชนิดนี้สามารถนำไปใช้งานได้ อย่างกว้างขวาง ในอดีตสายนี้
ถูกนำไปใช้ในการให้บริการเคเบิลทีวี หรือการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่กับอุปกรณ์ประกอบในการ ใช้งานทางโทรศัพท์ สายโคแอกเซียลที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 2 นิ้ว สามารถถ่ายทอดสัญญาณโทรศัพท์ได้มากถึง 20,000 คู่สาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของสายโคแอกเซียล คือ เรื่องขนาดของสาย ซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากเมื่อเปรียบเทียบกับสายคู่บิดเกลียวหรือสายใย แก้วนำแสง แม้ว่าสายรุ่นใหม่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง เพียง 0.195 นิ้วในขณะที่สายรุ่นเก่าจะมีขนาดถึง 0.405 นิ้ว สายชนิดนี้ก็ยังได้รับความนิยมนำไปใช้ในการสื่อสารข้อมูล น้อยกว่าสายยูทีพี ซึ่งมีราคาถูกกว่าและมีความสะดวกในการใช้งานมากกว่า


ที่มา : http://www.school.net.th/library/
http://www.dcs.cmru.ac.th/lesson2_1.php
หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 ของ สสวท

       

   
   


เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดี  บนความละเอียด  800x600  Text Size Medium
เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี 42 (คอมพิวเตอร์)