เทคโนโลยีกับแนวโน้มโลก
             

                เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้สังคมเปลี่ยนจากสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมสารสนเทศ สภาพสังคมโลก ได้เปลี่ยนแปลงมาแล้วสองครั้ง จากสังคมความเป็นอยู่แบบเร่ร่อน มาเป็นสังคมเกษตรที่รู้จักกับการเพาะปลูกและสร้างผลิตผลทางการเกษตร ทำให้มีการสร้างบ้านเรือนเป็นหลักแหล่ง ต่อมา มีความจำเป็นต้องผลิตสินค้าให้ได้ปริมาณมากและต้นทุนถูก จึงต้องหันมาผลิตแบบอุตสาหกรรม ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงมาเป็นสังคมเมือง มีการรวมกลุ่มอยู่อาศัยเป็นเมือง มีอุตสาหกรรมเป็นฐานการผลิต สังคมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน และกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสารสนเทศ
                ปัจจุบันคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารมีบทบาทมากขึ้น มีการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น อินเทอร์เน็ต เชื่อมโยงการทำงานต่าง ๆ การดำเนินธุรกิจใช้สารสนเทศอย่างกว้างขวาง เกิดคำใหม่ว่า ไซเบอร์สเปช (cyberspace) มีการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในไซเบอร์สเปช เช่น การพูดคุย การซื้อสินค้าและบริการ การทำงานผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดสภาพที่เสมือนจริงมากมาย เช่น ห้องสมุดเสมือนจริง ห้องเรียนเสมือนจริง ที่ทำงานเสมือนจริง ฯลฯ

                สามารถอธิบายความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ของผู้คน ไว้หลายประการต่อไปนี้ (จอห์น ไนซ์บิตต์ อ้างถึงใน ยืน ภู่วรวรรณ)

ก. เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเทคโนโลยีแบบสุนทรียสัมผัส
และตอบสนองตามความต้องการ
ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเป็นแบบบังคับ เช่น การดูโทรทัศน์ การฟังวิทยุ เมื่อเราเปิดเครื่องรับโทรทัศน์เราไม่สามารถเลือกตามความต้องการได้ ถ้าสถานีส่งสัญญาณใดมาเราก็ต้องชมตามตารางเวลาที่สถานีกำหนด หากผิดเวลาก็ทำให้ พลาดรายการที่สนใจไป และหากไม่พอใจรายการก็ทำได้เพียงเลือกสถานีใหม่ แนวโน้ม จากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เรียกว่า ออนดีมานด์ (on demand) เราจะมี ทีวีออนดีมานด์ เช่น เมื่อต้องการชมภาพยนต์ เรื่องใดก็เลือกชม และดูได้ตั้งแต่ต้นรายการ การศึกษาแบบออนดีมานด์ (education on demand) คือสามารถเลือกเรียนตามต้องการได้ การตอบสนองตามความต้องการเป็นหนทางที่เป็นไปได้ เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนา ที่ก้าวหน้าจนสามารถนำระบบสื่อสารมาตอบสนองความต้องการ ของมนุษย์ได้
ข. เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้เกิดสภาพการทำงานแบบ
ทุกสถานที่และทุกเวลา
มื่อการสื่อสารแบบสองทางก้าวหน้าและแพร่หลายขึ้น การโต้ตอบผ่านเครือข่ายทำให้เสมือนมีปฏิสัมพันธ์ได้จริง เรามีระบบประชุมทางวีดิทัศน์ ระบบประชุมบนเครือข่าย มีระบบการศึกษาบนเครือข่าย มีระบบการค้าบนเครือข่าย ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น การบริการจะกระจายมากยิ่งขึ้นจนถึงที่บ้านและในอนาคต สังคมการทำงานจะกระจายจนงานบางงานอาจนั่งทำที่บ้านหรือที่ใดก็ได้ และเวลาใดก็ได้
ค. เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจาก
ระบบแห่งชาติไปเป็นเศรษฐกิจโลก

ความเกี่ยวโยงของเครือข่ายสารสนเทศทำให้เกิดสังคมโลกาภิวัฒน์ (globalization) เทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนเอื้ออำนวยให้การดำเนินการมีขอบเขตกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ระบบเศษฐกิจของโลกจึงผูกพันกับทุประเทศ และเชื่อโยงกันแนบแน่นขึ้น
  
ง. เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้องค์กรมีลักษณะผูกพัน
หน่วยงานภายในเป็นแบบเครือข่ายมากขึ้น

แต่เดิมการจัดองค์กรมีการวางเป็นลำดับขั้น มีสายการบังคับบัญชาจากบนลงล่าง แต่เมื่อ การสื่อสารแบบสองทางและการกระจายข่าวสารดีขึ้น มีการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในองค์กรผูกพันกันเป็นกลุ่มงาน มีการเพิ่มคุณค่าขององค์กรด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดโครงสร้างขององค์กรจึงปรับเปลี่ยนจากเดิม และมีแนวโน้มที่จะสร้างองค์กรเป็นเครือข่ายที่มีลักษณะ การบังคับบัญชาแบบแนวราบมากขึ้น  สถานภาพขององค์กรจึงต้องแปรเปลี่ยนไปตามกระแส ของเทคโนโลยี เพราะการดำเนินธุรกิจต้องใช้ระบบสื่อสารที่มีความรวดเร็วเท่ากับแสง ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว
จ. เทคโนโลยีสารสนเทศก่อให้เกิดการวางแผนการดำเนินการระยะยาวขึ้น อีกทั้งยังทำให้วิถีการตัดสินใจ หรือเลือกทางเลือกได้ละเอียดขึ้น
แต่เดิมการตัดสินปัญหาอาจมีหนทางให้เลือกได้น้อย เช่น มีคำตอบเพียง ใช่ หรือ ไม่ใช่ แต่ด้วยข้อมูลข่าวสารที่สบับสนุนการตัดสินใจ ทำให้วิถีความคิดในการตัดสินปัญหาเปลี่ยนไป ผู้ตัดสินใจมีทางเลือกได้มากขึ้น มีความละเอียดอ่อนในการตัดสินปัญหาได้ดีขึ้น
ฉ. เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีเดียวที่มีบทบาท
ในทุกวงการ

ดังนั้นจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้อย่างมาก ลองนึกดูว่าขณะนี้เราสามารถชมข่าว ชมรายการโทรทัศน์ที่ส่งกระจายผ่านดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ ได้ทั่วโลกเราสามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันท่วงทีเราใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสื่อสารระหว่างกัน และติดต่อกับคนได้ทั่วโลก จึงเป็นที่แน่ชัดว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจึงมีลักษณะเป็นสังคมโลกมากขึ้น

               กล่าวโดยสรุป  เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทที่สำคัญในทุกวงการ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกด้านความเป็นอยู่ สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การเมือง ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ


ที่มา : http://www.school.net.th/library/
http://www.chakkham.ac.th/
หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 ของ สสวท.

   
   
เว็บไซต์นี้แสดงผลได้ดี  บนความละเอียด  800x600  Text Size Medium
เว็บไซต์นี้จัดทำเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี 42 (คอมพิวเตอร์)